โดยจัดเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ มีความสูงประมาณ 15-25 เมตร และอาจสูงได้ถึง 30 เมตร ลักษณะเป็นทรงยอดพุ่มทึบและแคบ มีทรงพุ่มใหญ่ลักษณะคล้ายเจดีย์ต่ํา ๆ มีพูพอนเล็กน้อยตามโคนต้น เป็นไม้ไม่ผลัดใบ เนื้อไม้แข็ง กิ่งก้านเรียวเล็กห้อยลง เปลือกต้นมีสีน้ําตาลเข้ม มีรอยแตกตื้น ๆ หลุดร่วงได้ง่าย ที่เปลือกชั้นในจะมีน้ํายางสีเหลืองอ่อนเล็กน้อย ส่วนในเนื้อไม้จะมีสีแดงคล้ําเป็นมันเลื่อม พบได้มากในป่าดิบชื้น ตามลําธารหรือริมห้วย พบได้มากในประเทศอินเดียและศรีลังกา นอกจากนี้ต้นบุนนาคยังจัดเป็นพันธุ์ไม้มงคลพระราชทานประจําจังหวัดพิจิตรอีกด้วย · ใบบุนนาค ใบเป็นใบเดี่ยว ออกตรงข้ามกัน ลักษณะของใบคล้ายรูปหอกหรือรูปขอบขนานแกมรูปหอก ปลายใบเรียวแหลม คล้ายใบมะปราง โคนใบสอบ แผ่นใบหนา ผิวใบเรียบเกลี้ยง ท้องใบมีคราบขาวปกคลุมอยู่ ใบมีขนาดกว้างประมาณ 1.2-4 เซนติเมตร และยาวประมาณ 5-13 เซนติเมตร ใบอ่อนจะมีสีชมพูออกแดง ส่วนใบแก่ด้านบนจะมีสีเขียวเข้ม ส่วนด้านล่างมีนวลสีเทา มีเส้นใบข้างมากแต่ไม่เห็นชัด ใบห้อยลงเป็นพู่ ก้านใบยาวประมาณ 0.8-1.2 เซนติเมตร ออกพร้อมกันทั้งต้นช่วงไม่กี่วันในแต่ละปี · ดอกบุนนาค ออกดอกเป็นดอกเดี่ยวหรือดอกคู่ตามซอกใบหรือปลายกิ่ง กลีบดอกมีสีขาวจนถึงสีเหลืองอ่อน กลีบดอกมี 5 กลีบซ้อนกัน ลักษณะของกลีบดอกเป็นรูปไข่หัวกลับ ปลายบานและเว้า โคนสอบ ปลายกลีบย่นเล็กน้อย เมื่อดอกบานเต็มกลีบจะแผ่กว้างออก และมีเส้นผ่านศูนย์กลางของดอกราว 5-10 เซนติเมตร ดอกบุนนาคเป็นดอกสมบูรณ์เพศ ดอกจะห้อยลง ก้านดอกยาวน้อยกว่า 1 เซนติเมตร มีเกสรตัวผู้มากกว่า 50 อัน เกสรตัวผู้ยาวประมาณ 1.5 เซนติเมตร มีสีเหลืองส้มและเป็นฝอย ส่วนอับเรณูเป็นสีส้ม ส่วนก้านเกสรตัวเมียมีสีขาว ก้านยาว มีรังไข่ 2 ช่อง กลีบเลี้ยง 4 กลีบ คล้ายรูปช้อน งอเป็นกระพุ้ง แยกเป็น 2 วง ลักษณะกลม และกลีบเลี้ยงจะแข็งหนาและอยู่คงทน เมื่อเป็นผลก็ยังคงติดกับผลอยู่ และดอกมีกลิ่นหอมเย็น ส่งกลิ่นไปได้ไกล และดอกบุนนาคจะออกดอกในช่วงระหว่างฤดูร้อนถึงฤดูฝน